Pages

Thursday, September 3, 2020

สาเหตุที่ทำให้จะไม่เกิด'สงครามสหรัฐฯ-จีน' - ผู้จัดการออนไลน์

beritaterikat.blogspot.com

ขีปนาวุธ DF-17 ที่หัวรบเป็นยานร่อน ซึ่งว่ากันว่ามีอัตราเร็วในระดับไฮเปอร์โซนิก (เร็วกว่าเสียง 5 เท่าขึ้นไป) ขณะเข้าโจมตีเป้าหมาย
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Why there won’t be a US-China war
by David P. Goldman
24/08/2020

จีนใช้จ่ายอย่างมหาศาลไปในเรื่องอาวุธเพื่อการต่อต้านการเข้าถึง/เพื่อการปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่ (anti-access/area denial weapons หรือเรียกกันย่อๆ ว่า A2/AD) –และนี่ทำให้สงครามการสู้รบระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กลายเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ

เมื่อปี 1976 นักมวยแชมเปี้ยนโลกรุ่นเฮฟวี่เวตคนดัง โมฮัมเหม็ด อาลี ขึ้นสังเวียนในการแข่งขันแบบกีฬาสาธิตที่กรุงโตเกียว โดยคู่ต่อสู้ของเขาคือ อันโตนิโอ อิโนกิ (Antonio Inoki) อาจารย์คาราเต้ ปรากฏว่า อิโนกิ ใช้เวลาส่วนใหญ่ของการแข่งขันด้วยการเตะใส่ขาของอาลี แล้วล้มตัวหลังติดพื้นจากนั้นก็พยายามเตะใส่ขาอ่อนและหน้าแข้งของอาลีในสไตล์มวยปู (crab-fashion)

“อาลีสามารถปล่อยหมัดแย็บเข้าเป้าได้แค่ 2 ครั้ง ขณะที่การเตะของอิโนกิ ทำให้ขาของอาลีเกิดอาการเลือดคั่งขึ้นมา 2 จุด รวมทั้งมีการติดเชื้อซึ่งแทบจะส่งผลให้ต้องมีการตัดขาของอาลีกันทีเดียว” วิกิพีเดียรายงานเอาไว้เช่นนี้ “การแข่งขันครั้งนี้ไม่ได้มีการกำหนดบทเอาไว้ล่วงหน้า และในที่สุดแล้วผลการต่อสู้ได้รับการตัดสินว่าเสมอกัน” [1]

วิดีโอบันทึกการแข่งขันคราวนั้น สามารถชมได้ที่

และ

ซึ่งมีอยู่ช่วงหนึ่งจะเห็นอาลีใช้แขนเกาะเชือกเวทีเพื่อยกตัวให้ลอยขึ้นมาจะได้หลบการเตะของอิโนกิ

และนี่แหละก็เป็นสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบใช้อธิบายได้ว่า ทำไมจึงจะไม่มีการสงครามแบบปะทะยิงต่อสู้กันระหว่างสหรัฐฯกับจีนขึ้นมาหรอก ทั้งนี้จีนใช้จ่ายอย่างมหาศาลไปในเรื่องอาวุธเพื่อการต่อต้านการเข้าถึง/เพื่อการปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่ (anti-access/area denial weapons หรือเรียกกันย่อๆ ว่า A2/AD) –และนี่ทำให้สงครามกับอเมริกากลายเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ

อย่างที่ผมอธิบายเอาไว้ในหนังสือของผมเรื่อง You Will Be Assimilated: China’s Plan to Sino-Form the World [2] รูปลักษณ์ด้านกลาโหมของจีนมีพื้นฐานอยู่บนแนวความคิดอย่างเดียวกับที่อิโนกิใช้ต่อสู้กับอาลี กล่าวคือ ปักกิ่งต้องการทำให้สหรัฐฯไม่สามารถเข้ามาใกล้จนอยู่ในระยะที่ใช้แสนยานุภาพซึ่งเหนือกว่าของตนได้ เหตุผลข้อโต้แย้งของพวกที่เชื่อในความคิดยอดนิยมอย่าง “กับดักทิวซิดิดีส” (“Thucydides Trap” argument) [3] ซึ่งระบุว่า ในที่สุดแล้วสหรัฐฯจะต้องเข้าสงครามเพื่อหยุดยั้งการผงาดขึ้นมาของจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นนั้น เมื่อพินิจพิจารณากันอย่างใกล้ชิดแล้ว มันก็กลับกลายเป็นโวหารอันว่างเปล่าของทิวซิดิดีสเท่านั้น

กองทัพปลดแอกประชาชนจีนนั้น จัดว่าเป็นกองทัพภาคพื้นดินที่ได้รับการฝึกอย่างย่ำแย่ที่สุดและได้รับการประกอบอาวุธยุทธสัมภาระต่างๆ อย่างย่ำแย่ที่สุดเท่าที่มหาอำนาจรายสำคัญๆ รายหนึ่งในทุกวันนี้จะมีกัน โดยที่กองทัพนี้ใช้จ่ายเพียงแค่ 1,500 ดอลลาร์สำหรับการประกอบอาวุธและยุทธสัมภาระให้แก่ทหารราบ 1 คน –ซึ่งก็คือไม่มากไปกว่าราคาของปืนเล็กยาวและเครื่องแบบประจำกายสักเท่าไหร่เลย— เปรียบเทียบกับ 18,000 ดอลลาร์สำหรับทหารอเมริกัน 1 คน

ขณะเดียวกันพวกรถถังของจีนก็จัดว่าปานกลางธรรมดาๆ และไม่น่าที่จะยืนหยัดสู้รบกับยานเกราะรุ่นใหม่ๆ ของอเมริกันและรัสเซียได้ กำลังทางอากาศของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนก็ไม่ได้มีเครื่องบินรุ่นซึ่งออกแบบมาเพื่อการโจมตีทำลายภาคพื้นดินโดยเฉพาะ ชนิดที่สามารถเปรียบเทียบได้กับ เอ-10 วอร์ตฮอค (A-10 Warthog) ของอเมริกัน หรือ ซู-25 (SU-25) ของรัสเซีย

จีนมีกำลังทหารนาวิกโยธินอย่างน้อยที่สุด 30,000 คน และกองทหารราบยานเกราะขนส่งทางทะเล 60,000 คนประจำเตรียมพร้อมสำหรับการรุกรานไต้หวัน หรือสิ่งที่ยังเหลืออยู่ของไต้หวัน ภายหลังจากถูกถล่มโจมตีอย่างแหลกลาญตั้งแต่ตอนต้นๆ เมื่อเกิดสงครามขึ้นมา

แต่พวกกำลังทหารเคลื่อนที่เร็วของจีน ยังต้องถือว่าเป็นแค่กองกำลังขนาดเล็กๆ เมื่อเปรียบเทียบกับของอเมริกา พวกนักวิเคราะห์ประเมาณการว่าจีนมีกำลังทหารหน่วยรบพิเศษระหว่าง 7,000 ถึง 15,000 คน ขณะที่สหรัฐฯมีอยู่ประมาณ 66,000 คนตามที่ระบุไว้ในงบประมาณกลาโหมสหรัฐฯฉบับปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม จีนได้ทุ่มเทลงทุนอย่างมโหฬารในเรื่องการป้องกันแนวชายฝั่ง พวกขีปนาวุธยิงจากภาคพื้นสู่เรือ ไล่กันตั้งแต่รุ่นแรกสุดคือ ดีเอฟ-21 ซึ่งเปิดตัวกันในปี 2008 ไปจนถึง ดีเอฟ-26 ที่ถูกนำมาโชว์ในปี 2018 โดยได้รับสมญาจากพวกสื่อว่าเป็น “จรวดพิฆาตเรือบรรทุกเครื่องบิน” (carrier killers)

มีรายงานว่า ดีเอฟ-26 มีพิสัยทำการ 2,500 กิโลเมตร ไกลเพียงพอที่จะโจมตีไปถึงพวกสถานที่ตั้งทางทหารต่างๆ ของสหรัฐฯบนเกาะกวม พวกขีปนาวุธของจีนนั้นออกแบบมาให้พอมันออกมาจากบรรยากาศชั้นบนของโลก (stratosphere) ก็จะปักหัวดิ่งเข้าสู่เป้าหมายในแนวตั้ง และพวกอาวุธเครื่องป้องกันของเรือสหรัฐฯก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อต่อสู้รับมือกับการโจมตีในลักษณะนี้เสียด้วย

นอกจากนี้แล้วจีนยังมี ยานร่อนไฮเปอร์โซนิก ดีเอฟ-แซดเอฟ (DF-ZF hypersonic glide vehicle) ที่ติดต่ออยู่บนขีปนาวุธขนาดหนัก ดีเอฟ-17 ซึ่งมีอัตราความเร็วที่น่าจะเอาชนะระบบต่อสู้ขีปนาวุธใดๆ เท่าที่มีกันอยู่ในปัจจุบัน

ฝ่ายจีนสามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันด้วยขีปนาวุธ –หรือด้วยเรือดำน้ำใช้เครื่องยนต์ดีเซล-ไฟฟ้าที่เงียบกริบจนไม่สามารถตรวจจับได้—ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงโต้แย้งกันอย่างไม่จบไม่สิ้น ความยุ่งยากอยู่ตรงที่ว่าหนทางเดียวเท่านั้นที่จะค้นหาจนได้คำตอบที่แน่ใจได้ ก็คือการเข้าทำสงครามกันจริงๆ กระนั้นเมื่อประมาณ 1 ปีก่อน ศูนย์สหรัฐฯศึกษา (the United States Studies Center) ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ในออสเตรเลีย ได้เสนอภาพการประเมินที่เข้มงวดชวนหดหู่เอาไว้ดังนี้:

“คลังแสงที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งประกอบด้วยพวกขีปนาวุธพิสัยไกลอันแม่นยำ กำลังกลายเป็นภัยคุกคามอย่างสำคัญประการหนึ่งต่อฐานทัพ, ทางวิ่งของเครื่องบิน, ท่าเรือ, และที่ทำการทางทหาร ทั้งของอเมริกัน, ของพวกพันธมิตรและพวกหุ้นส่วนของอเมริกันแทบจะทุกๆ แห่งทีเดียวในอาณาบริเวณแปซิฟิกตะวันตก เนื่องจากสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้อาจถูกตีความได้ว่าไร้ประโยชน์ เพราะจะต้องถูกการโจมตีอย่างแม่นยำตั้งแต่ในชั่วโมงแรกๆ ของการสู้รบขัดแย้งกัน การคุกคามจากขีปนาวุธของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน จึงกำลังเป็นเครื่องท้าทายความสามารถของอเมริกาที่จะดำเนินการใช้กำลังต่างๆ ของตนจากบรรดาที่ตั้งส่วนหน้าตลอดทั่วทั้งภูมิภาคนี้อย่างเสรี

“เคียงคู่ไปกับพวกสมรรถนะด้าน A2/AD อย่างอื่นๆ ของจีน –เป็นต้นว่า เครื่องบินขับไล่ไอพ่นเจเนอเรชั่นที่ 4 ซึ่งมีอยู่ในจำนวนที่ใหญ่โต, พวกระบบ C4ISR (ย่อมาจาก command การบัญชาการ, control การควบคุม, communications การสื่อสาร, computers คอมพิวเตอร์, intelligence การหาข่าว, surveillance การเฝ้าตรวจ , และ reconnaissance การสอดแนม) อันก้าวหน้า, เรือดำน้ำโจมตีสมัยใหม่, สมรรถนะด้านสงครามอิเล็กทรอนิกส์, และแถวขบวนอันแน่นหนาของขีปนาวุธแบบพื้นผิวสู่อากาศที่มีความประณีตซับซ้อน – มันทำให้กองทัพปลดแอกประชาชนจีนสามารถตรึงรั้งกองกำลังสู้รบนอกประเทศทั้งของสหรัฐฯและของพวกชาติพันธมิตรให้ตกอยู่ในความเสี่ยง คอยขัดขวางป้องกันไม่ให้กองกำลังเหล่านี้สามารถปฏิบัติการอย่างทรงประสิทธิภาพในทะเลหรือในอากาศเมื่ออยู่ภายในพิสัยการสู้รบของเป้าหมายจีนทั้งหลาย

“หลังจากที่ปักกิ่งก่อสร้างเครือข่ายของที่มั่นทางทหารในบริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งสามารถให้ความสนับสนุนด้วยเรดาร์, ชุดยิงขีปนาวุธ, และเครื่องบินที่ประจำอยู่ที่ฐานทัพส่วนหน้า ภัยคุกคามของ A2/AD ก็กำลังยิ่งเข้มข้นเพิ่มทวีขึ้นอีก ณ ทางน้ำอันสำคัญยิ่งยวดแห่งนี้”

แน่นอนทีเดียว ยังคงมีสิ่งบางสิ่งเกี่ยวกับศักยภาพทางการทหารของจีน ซึ่งไม่เป็นที่ทราบกันอย่างเยอะแยะมากมาย ผู้สังเกตการณ์ชาวอเมริกันบางราย [4] คิดว่า เครื่องขับขับไล่หลบหลีกเรดาร์ เจ-20 ของจีน เป็นแพลตฟอร์มอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพอย่างหนึ่งในการต่อกรกับเหล่าเรือรบและอากาศยานของสหรัฐฯ ทว่าคนอื่นๆ ไม่ได้รู้สึกประทับใจถึงขนาดนั้น อย่างไรก็ดี จุดสำคัญอยู่ตรงที่ว่าเครื่องบินจีนไม่จำเป็นต้องถึงขั้นสร้างความปราชัยให้แก่ เอฟ-18 หรือ เอฟ-35 ในการต่อสู้กันทางอากาศแบบตะลุมบอน พวกเขาเพียงแค่ต้องการกีดกันกองกำลังสหรัฐฯให้อยู่ห่างออกไปจากจีน และทำให้เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับสหรัฐฯในการเข้าเสริมกำลังไต้หวันเท่านั้น

จีนนั้นมีสมรรถนะในการใช้ขีปนาวุธทำลายดาวเทียมสหรัฐฯมาตั้งแต่ปี 2005 รวมทั้งน่าที่จะมีความสามารถในการใช้เลเซอร์ทำให้ดาวเทียมเหล่านี้ตาบอดอีกด้วย ถ้าหากสงครามสหรัฐฯ-จีนระเบิดขึ้นมา ตั้งแต่นาทีแรกๆ ทีเดียว ระบบการสื่อสารทางทหารและระบบการระบุตำแหน่งของฝ่ายทหารของสหรัฐฯก็จะถูกทำลายไป

จีนยังติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบ เอส-400 ที่ได้มาจากรัสเซีย ซึ่งมีพิสัยทำการกวาดครอบคลุมไปทั่วทั้งท้องฟ้าเหนือไต้หวัน สหรัฐฯมีมาตรการตอบโต้อย่างไรที่จะสามารถเอาชนะ เอส-400 ได้หรือไม่นั้นยังคงเป็นความลับทางทหาร แต่เห็นได้ชัดว่าระบบของรัสเซียนี้ทำให้การป้องกันของไต้หวันอยู่ในสภาพอ่อนยวบลงถนัด

แน่นอนว่าการเผชิญหน้ากันระหว่างกองทหารสหรัฐฯกับกองทหารจีนในบริเวณใกล้ๆ ชายฝั่งของจีน ไม่ได้เป็นฉากทัศน์สงครามเพียงอย่างเดียวที่อาจเกิดขึ้นมาได้ บางทีสหรัฐฯอาจจะพยายามสกัดกั้นไม่ให้จีนสามารถนำเข้าน้ำมันจากอ่าวเปอร์เซีย เรื่องนี้ใช้เป็นเหตุผลอธิบายได้ทีเดียวว่าทำไมจีนจึงมีความกระตือรือร้นถึงขนาดนี้ในการดำเนินการให้การขนส่งน้ำมันและแก๊สจากรัสเซียผ่านเส้นทางภาคพื้นดิน มีความเสถียรมั่นคงขึ้นมา

กระนั้น จีนก็ยังคงผลิต 85% ของพลังงานที่ตนเองบริโภค (เมื่อคำนวณกันเป็นหน่วย BTUs) ขึ้นมาภายในบ้านตัวเอง ขณะที่ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, และไต้หวัน ต่างเรียกได้ว่าต้องพึ่งพาอาศัยการนำเข้าสำหรับพลังงานของพวกตนแทบทั้งหมดทีเดียว ดังนั้นความพยายามที่จะหยุดยั้งการไหลเวียนของน้ำมัน จึงจะก่อให้เกิดผลต่อเนื่องชนิดวิบัติหายนะต่อพวกพันธมิตรของสหรัฐฯเสียมากกว่า

สหรัฐฯย่อมสามารถที่จะประดิษฐ์คิดสร้างอาวุธรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาเอาชนะคลังแสงขีปนาวุธอันน่าเกรงขามของจีน ก่อนหน้านี้ของปีนี้ สำนักงานโครงการวิจัยระดับก้าวหน้าด้านกลาโหม (Defense Advanced Research Projects Agency) ได้ให้เงินบริษัทกรัมมัน ( Grumman) เป็นจำนวน 13 ล้านดอลลาร์ เพื่อทำการศึกษาประเด็นนี้ [5] แน่นอนทีเดียว เงินงบประมาณแค่นี้ไม่ใช่อยู่ในระดับของโครงการแมนฮัตตัน (Manhattan-Project) หรอก ขณะเดียวกัน กองทัพเรือสหรัฐฯก็อวดว่ากำลังทำงานในเรื่องระบบการป้องกันขีปนาวุธที่จะยิงใส่เรือรบกันอยู่ ทว่าแทบหารายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ได้เอาเลย [6]

ในทางทฤษฎี เลเซอร์สามารถส่งพลังงานด้วยความเร็วแสงไปต่อต้านอาวุธที่กำลังเคลื่อนที่เข้ามา แต่ถึงแม้มันฟังดูมีเหตุมีผล การที่จะเล็งเจอเป้าหมายและเข้าทำลายวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็วอย่างยิ่ง ก็ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นจำนวนหนึ่งซึ่งเวลานี้ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขคลี่คลาย

มันยังจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีก่อนที่พวกอาวุธเลเซอร์จะสามารถเปลี่ยนแปลงดุลแห่งอำนาจในบริเวณแนวชายฝั่งของจีนได้ ด้วยเหตุนี้ ยุทธศาสตร์การป้องกันแบบไฮเทคของจีนจึงทำให้สงครามกับสหรัฐฯเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ภายในอนาคตอันพอมองเห็นกันได้นี้

เชิงอรรถ

[1]https://ift.tt/1KVg0HD
[2]https://ift.tt/31WES4T
[3]https://ift.tt/2gW7sNb
[4]https://ift.tt/3h13FJk
[5] https://ift.tt/37ClpXQ
[6]https://ift.tt/32UlzIR

ขีปนาวุธ DF-26 ซึ่งสื่อให้ฉายาว่า “จรวดพิฆาตเรือบรรทุกเครื่องบิน

Let's block ads! (Why?)


September 04, 2020 at 09:49AM
https://ift.tt/2QVhFdg

สาเหตุที่ทำให้จะไม่เกิด'สงครามสหรัฐฯ-จีน' - ผู้จัดการออนไลน์
https://ift.tt/36Hzof2
Home To Blog

No comments:

Post a Comment