ค้นหาสาเหตุองค์กรพัง เพราะผู้นำไม่แข็งแรง
วันที่ 09 ก.ย. 2563 เวลา 07:02 น.
“เพราะองค์กรคือชีวิต” อันเป็นฐานรากของยุทธศาสตร์การพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
โดย : ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการ ศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน
เมื่อพูดถึงความท้าทายของภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทุกวันนี้ผู้นำองค์กรเจอปัญหาอะไรบ้าง
ปัญหาพื้นฐานที่สุดของผู้นำองค์กรก็คือ ผู้นำไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อความอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ไม่สามารถสร้างทีมงานที่เข้มแข็งอย่างมีส่วนร่วม การทำงานก็ไม่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นหนึ่งเดียว องค์กรจึงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างเป็นเอกภาพ
...นั่นเป็นเพราะอะไร
ประการแรก ผู้นำไม่สามารถเหนี่ยวนำให้บุคลากรคิดออกนอกกรอบเดิมๆ แต่ยังติดอยู่กับภาพความสำเร็จเก่าๆ วิธีการทำงานแบบเดิมๆ ไม่กล้าริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ ไม่กล้าออกจาก Comfort Zone บุคคลจึงขาดการพัฒนาตนเองขาดความกระตือรือร้นขาดแรงบันดาลใจขาดแรงขับเคลื่อนภายในบ่อยครั้งมีทัศนคติติดลบขาดการปรับตัวอย่างยืดหยุ่นไม่เปลี่ยนไม่ปรับตัวไม่เล่นเชิงรุกจึงไม่สามารถนำตนเองได้
ประการที่สอง ผู้นำไม่สามารถวางรากฐานการแก้ปัญหาด้วยแนวคิดเชิงระบบ ในการรับมือกับปัญหา บุคลากรจึงจับประเด็นสำคัญไม่ได้และก็เชื่อมโยงประเด็นเหล่านั้นไม่ถูก ทางออกจึงคับแคบ ทีมงานจึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ติดกับดักของตัวปัญหา ขาดกระบวนการเรียนรู้ อีกทั้งยังติดอยู่กับการแก้ปัญหาด้วยมุมมองเชิงเดี่ยว จึงไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงซับซ้อนได้ นอกจากนี้ ผู้นำยังขาดความเข้าใจในมุมมองเชิงองค์รวมหรือความเป็นทั้งหมด บุคลากรจึงขาดความคิดสร้างสรรค์ ขาดความคิดที่แตกต่าง ที่แปลกใหม่ ทีมงานจึงไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจได้ ทั้งหมดนี้จึงไม่สามารถสร้างองค์กรให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง
ประการที่สาม ผู้นำไม่สามารถเหนี่ยวนำให้บุคคลเห็นคุณค่าตนเอง ให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ภายในจึงเปราะบาง ขาดความเชื่อมั่น ขาดความมั่นคง ขาดภูมิต้านทาน หวั่นไหว ไม่กล้าตัดสินใจ กลัวพลาด เวลาเจอปัญหาหนักๆ ที่ทับซ้อนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง บุคลากรจึงไม่สามารถปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่น เพื่อพลิกฟื้นคืนสภาพตนเองได้ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นตนเองกลับมาและสามารถขับศักยภาพภายในตนเองให้ออกมาได้อย่างเต็มที่
ประการที่สี่ ผู้นำไม่สามารถสร้างบรรยากาศของความศรัทธาให้เกิดขึ้นในองค์กร บุคลากรจึงไม่เห็นคุณค่าในความแตกต่าง ใจจึงไม่เปิดกว้างรับฟัง ขาดความเข้าใจกัน พูดกี่ครั้งก็ไม่เข้าใจ พูดไปก็ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น ทีมงานจึงขาดความไว้วางใจกัน ขาดอารมณ์ร่วม จึงไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ทีมงานจึงขาดพลังร่วม ไม่สามารถระเบิดศักยภาพทีมงานให้เป็นหนึ่งเดียว องค์กรขาดความเข้มแข็ง ขาดศักยภาพด้านการแข่งขัน ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างเป็นเอกภาพ
...จะเห็นได้ว่า ผู้นำมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กรอย่างยั่งยืน
แล้วเราจะสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำองค์กรให้ยั่งยืนได้อย่างไร
ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจก่อนว่า กรอบความคิด (Mindset หรือ Paradigm) คือฐานรากของชีวิต กรอบความคิดมีธรรมชาติเป็นมายาคติ มันเป็นความรู้สึกนึกคิดที่หลอมรวมกันและสะท้อนถึงความมีชีวิต ดังที่ เรอเน เดการ์ต (René Descartes, 1596-1650) นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสในต้นยุคอารยธรรมตะวันตกสมัยใหม่ เขาได้กล่าวประโยคที่สำคัญเอาไว้ว่า “I think, therefore I am” แปลว่า “ในขณะที่ฉันคิด ตัวตนฉันจึงมีอยู่” นั่นคือ กรอบความคิดของฉันนี้เองที่กำหนด “ตัวตน” ตัวตนคือชีวิต กรอบความคิดจึงสะท้อนความมีชีวิตนั่นเอง ทุกชีวิตมีกรอบความคิดอันเป็นฐานรากชีวิต บุคลากรจึงมีความเป็นมนุษย์ องค์กรจึงมีชีวิต
แล้วตัวตนต้องการอะไร
มีนักปรัชญาชาวเยอรมันชื่อว่า ฟรีดริช วิลเฮล์ม นิตเช่ (Friedrich Wilhelm Nietzsche : 1844–1990) ท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อแนวคิดอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ท่านกล่าวว่า ตัวตนต้องการคุณค่าและความหมาย
ถึงตรงนี้ พอสรุปได้ว่าทุกชีวิตต้องการคุณค่าและความหมาย บุคลากรจึงต้องการได้รับการมอบอำนาจ ด้วยการยอมรับ ด้วยความเข้าใจ ต้องการกำลังใจ ความไว้วางใจ ความเชื่อใจ การให้เกียรติ และศรัทธา และเมื่อผู้นำมอบความรู้สึกที่ดีนี้ให้ เขาก็จะได้รับการยอมรับ ได้รับความเชื่อใจ ความไว้วางใจ และศรัทธาเป็นการตอบแทน “เพราะใครก็ตามที่เห็นฉันมีค่า ฉันก็เห็นเขามีค่าเช่นกัน” ในเมื่อฉันได้รับการยอมรับ เธอก็ได้รับการยอมรับจากฉันเช่นกัน การยอมรับที่ว่านี้เอง ภาวะผู้นำได้เกิดขึ้น เมื่อบุคคลที่ได้รับการยอมรับนั้นอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า เมื่อเขาพูดอะไร ฉันจะฟัง และนี่คือเงื่อนไขสำคัญที่สุดของการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงและส่งผลเป็นความสำเร็จขององค์กรอย่างยั่งยืน
ดังนั้น อาการปัญหาต่างๆ ในรูปของภาวะผู้นำที่ไม่สามารถนำองค์กรไปสู่ความยั่งยืนได้นั้นล้วนมีเบื้องลึกของเหตุแห่งปัญหาอยู่ที่คุณค่าที่ซ่อนอยู่ภายในตัวตนระหว่างบุคคลหากคุณค่านี้ได้รับการตอบสนองแล้วมันคือต้นทางของความยั่งยืนขององค์กรนั่นเอง
ผู้นำจึงต้องเข้าใจว่าในทุกขณะที่เรากำลังมีปฏิสัมพันธ์กันในรูปของพฤติกรรมนั้น โลกภายในคือตัวตนก็กำลังตีความกันอยู่ที่สะท้อนถึงความมีคุณค่าและความหมายระหว่างกัน ดังนั้น ภาวะผู้นำจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เราให้คุณค่าและความหมายแก่ผู้ที่เราสัมพันธ์ด้วย ดังนั้น ผู้นำนอกจากจะเป็นผู้นำโดยตำแหน่งแล้ว ยังต้องแสดงออกถึงคุณค่าและความหมายของผู้ตามด้วย เพราะองค์กรคือชีวิต
ภาวะดังกล่าวจึงจะสามารถสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงบนฐานของความมีชีวิตนำไปสู่
- ความสามารถในการเหนี่ยวนำให้บุคลากรเห็นคุณค่าตนเองมีความภาคภูมิใจในตนเองเกิดความเชื่อมั่นมีภูมิต้านทานบุคลากรจึงสามารถปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่นเกิดแรงบันดาลใจสามารถพลิกฟื้นคืนสภาพตนเองได้อย่างเข้มแข็งสามารถพัฒนาศักยภาพตนเองและขับออกมาได้อย่างเต็มที่เล่นเชิงรุกจึงสามารถนำตนเองได้เพื่อรับมือกับความท้าทายที่ผ่านเข้ามาได้อย่างมั่นคง
- ความสามารถในการสร้างบรรยากาศของการเห็นคุณค่าในความแตกต่าง บุคลากรจึงเปิดใจกว้างรับฟัง เข้าใจกัน เกิดศรัทธาระหว่างกัน นำไปสู่การระเบิดศักยภาพร่วมกัน เสริมกันอย่างมีพลังร่วม มีอารมณ์ร่วม สอดคล้องไปในแนวเดียวกันอย่างเป็นหนึ่งเดียว สามารถบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้อย่างมีความสุข
- นอกจากนี้ ยังสามารถกระตุ้นให้ทีมงานให้เกิดแนวคิดเชิงระบบ เพื่อรับมือกับปัญหาเชิงซับซ้อนได้ อีกทั้งมีมุมมองเชิงองค์รวม สามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนานวัตกรรมที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ นำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขัน สร้างองค์กรให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้
มีคำกล่าวว่า ในฐานะผู้นำ “เราต้องให้ความรัก ก่อนให้ความรู้” ท่านเข้าใจว่าอย่างไร
ถึงตรงนี้ ท่านจะนำความเข้าใจดังกล่าวมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำองค์กรอย่างมีเอกภาพ มีความเข้มแข้ง มั่นคงยั่งยืนได้อย่างไร และที่สำคัญ เรื่องนี้เป็นจริงทั้งที่บ้านและที่ทำงาน เพราะต่างก็มีชีวิต
ผมมั่นใจว่าหัวข้อที่นำมาแลกเปลี่ยนในครั้งนี้คงจะเป็นประโยชน์นะครับ
September 09, 2020 at 07:11AM
https://ift.tt/3m2LxT4
ค้นหาสาเหตุองค์กรพัง เพราะผู้นำไม่แข็งแรง - โพสต์ทูเดย์
https://ift.tt/36Hzof2
Home To Blog
No comments:
Post a Comment